Investor Relations

CG Principle

บริษัทปฏิบัติตามหลักการการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง และจากผลประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนที่จัดทำโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ปรากฏผลตามรายงานการกำกับดูแลกิจการเฉพาะบริษัท (Company Corporate Governance Assessment Report) ประจำปี 2566 บริษัทมีคะแนนภาพรวมเท่ากับร้อยละ 56 โดยมีคะแนนในหมวดการเปิดเผยข้อมูลความโปร่งใส ได้รับคะแนนร้อยละ 83, หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้นและการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน เท่ากับร้อยละ 69, หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ได้รับคะแนนร้อยละ 52 และการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียและการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ได้รับคะแนนร้อยละ 43เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานความยั่งยืน

คณะกรรมการบริษัทได้ปฏิบัติตามข้อพึงปฏิบัติที่ดีสำหรับกรรมการบริษัทจดทะเบียน ตามแนวทางของตลาดหลักทรัพย์ และข้อบังคับของบริษัททุกประการ บริษัทขอรายงานเรียงตามลำดับของหลักการ ในแต่ละหัวข้อดังต่อไปนี้

1. สิทธิของผู้ถือหุ้น

บริษัทตระหนักถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นในความเป็นเจ้าของ ซึ่งจะควบคุมบริษัท โดยผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการให้ทำหน้าที่แทน และมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ บริษัทจึงได้ทำการส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน และได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นได้รับข่าวสารข้อมูลของบริษัทอย่างเพียงพอ การเข้าร่วมประชุมเพื่อใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแต่งตั้งกรรมการ กำหนดค่าตอบแทนกรรมการ แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และกำหนดจำนวนเงินค่าสอบบัญชี รวมถึงการใช้สิทธิลงคะแนนในเรื่องสำคัญของบริษัท เป็นต้น โดยคณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการไว้ชัดเจนว่า บริษัทจะส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้น ได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐาน โดยบริษัทจะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ถือหุ้น

ในการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท ได้กำหนดวันประชุม ซึ่งไม่ใช่วันหยุดต่อเนื่อง หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์และกำหนดเวลาประชุมไม่เช้าหรือเย็นเกินไป และกำหนดสถานที่ประชุม ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการคมนาคมสะดวก มีสถานที่จอดรถเพียงพอ พร้อมแนบแผนที่สถานที่ประชุม

ในปี 2566 บริษัทได้จัดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ณ ห้องบุษราคัม บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ เอเทรียม เลขที่ 1880 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2566 ทั้งนี้ บริษัท ได้เผยแพร่หนังสือเชิญประชุมพร้อมทั้งข้อมูลประกอบการประชุมตามวาระต่าง ๆ บนเว็บไซด์ของบริษัท (www.rojana.com) เป็นการล่วงหน้า 30 วันก่อนวันประชุม พร้อมทั้งได้จัดส่งหนังสือเชิญประชุมให้กับบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นของบริษัทเป็นผู้จัดส่งให้กับผู้ถือหุ้นล่วงหน้า 14 วันก่อนประชุม เพื่อให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาพิจารณารายละเอียดของแต่ละวาระ และหากผู้ถือหุ้นมีวาระเพิ่มเติมใดๆ ก็สามารถเสนอในที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาได้ ในการจัดส่งเอกสารการประชุมได้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารประกอบการเข้าร่วมประชุมและหนังสือมอบฉันทะ ในรูปแบบตามที่กฎหมายกำหนด

บริษัทได้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุม โดยจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลต้อนรับและให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น ทั้งก่อน-หลัง การประชุม พร้อมจัดให้มีของว่างสำหรับผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการบริษัทได้ให้ความสำคัญในการเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อตอบข้อซักถามและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ถือหุ้น โดยในปี 2566 มีกรรมการจำนวน 7 ท่านเข้าร่วมประชุม (มีกรรมการ 2 ท่านที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากติดภารกิจ คือ นายสุเทพ พงษ์พิทักษ์ และนายฮิโรชิ ทาชิโร) ในการประชุมดำเนินไปตามลำดับตามระเบียบวาระการประชุมที่กำหนดไว้ในหนังสือเชิญประชุม และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความคิดเห็นและซักถามเรื่องต่าง ๆ ในแต่วาระอย่างเต็มที่โดยก่อนเริ่มการประชุม เลขานุการบริษัทได้ชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุม วิธีการออกเสียงลงคะแนน และสิทธิของผู้ถือหุ้นในการประชุมดังนี้

ตามข้อบังคับของบริษัท ข้อ 40. กำหนดให้การออกเสียงลงคะแนนให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนหุ้นที่ตนถืออยู่หรือรับมอบฉันทะ โดยถือว่าหนึ่งหุ้นเท่ากับหนึ่งเสียง

ในการลงคะแนนเสียงแต่ละวาระ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นท่านใด ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ให้ถือว่าท่านผู้ถือหุ้นเห็นชอบหรือเห็นด้วยตามมติที่นําเสนอ

หากมีผู้ถือหุ้นท่านใด ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ให้ทำเครื่องหมายตามความประสงค์ของท่านลงในบัตรลงคะแนนที่ได้รับ ณ ตอนลงทะเบียน พร้อมกับลงลายมือชื่อในบัตร และชูมือขึ้น เจ้าหน้าที่ของบริษัทจะเก็บบัตรลงคะแนน

สำหรับวาระปกติ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและออกเสียงลงคะแนน

วาระเพื่อรับทราบ ไม่มีการลงมติ

วาระพิเศษ ให้ถือคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้น ซึ่งมาประชุม และมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

ทั้งนี้ การรวบรวมผลคะแนนเสียง บริษัทจะนำคะแนนเสียงที่ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง หักออกจากจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดของผู้ที่เข้าร่วมประชุม โดยส่วนที่เหลือจะถือว่าเป็นคะแนนเสียงที่เห็นด้วยในระเบียบวาระนั้น ๆ

กรณีผู้ถือหุ้นที่ทำหนังสือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าร่วมประชุม และเป็นแบบออกเสียงลงคะแนนตามความประสงค์ของท่านผู้ถือหุ้นนั้น บริษัทได้นำคะแนน เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง บันทึกรวมไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการลงมติตามวาระไว้แล้ว

สำหรับผู้ถือหุ้น หรือผู้รับมอบฉันทะที่ออกเสียงเห็นด้วยในแต่ละวาระ ขอให้ส่งบัตรลงคะแนนคืนเจ้าหน้าที่ของบริษัท หลังเสร็จสิ้นการประชุม ทั้งนี้ การลงคะแนนเสียงในการประชุมครั้งนี้เป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผย มีการเก็บบัตรลงคะแนนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการนับคะแนน และขอเรียนเชิญผู้ถือหุ้น 1 ท่าน มาเป็นผู้สังเกตการณ์ในการนับคะแนนแต่ละวาระ

และหากผู้ถือหุ้นท่านใดประสงค์ที่จะออกจากห้องประชุมโดยไม่เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นอีกต่อไป กรุณาแจ้งกับเจ้าหน้าที่ของบริษัททางด้านจุดลงทะเบียน เพื่อจะได้หักจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นออกในวาระนั้น

สำหรับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท ได้บันทึกข้อมูลอย่างชัดเจนเกี่ยวกับรายชื่อกรรมการที่เข้าร่วมประชุมพร้อมมติที่ประชุม โดยเผยแพร่รายงานผ่านเว็บไซต์ของบริษัท www.rojana.com ภายใน 30 วันหลังจากวันประชุมผู้ถือหุ้น

2. การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน

บริษัทให้ความสําคัญและดูแลให้มีการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างเท่าเทียมกันและเป็นธรรม ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ดําเนินการประชุมผู้ถือหุ้นตามลําดับระเบียบวาระที่ได้แจ้งไว้ในหนังสือเชิญประชุม และไม่เพิ่มระเบียบวาระในที่ประชุมโดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้า ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลประกอบการพิจารณาระเบียบวาระต่างๆ
  • จัดให้มีบัตรลงคะแนนเสียงสําหรับทุกระเบียบวาระ พร้อมทั้งจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยอํานวยความสะดวกในการจัดเก็บบัตรลงคะแนนเสียงในห้องประชุม
  • บริษัทได้จัดทําและบันทึกรายงานการประชุมอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเผยแพร่รายงานการประชุมให้ผู้ถือหุ้นทุกรายรับทราบผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท ภายหลังจากที่ได้จัดส่งรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วหลังการประชุมเสร็จสิ้น 14 วัน พร้อมทั้งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของบริษัท
  • บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอเพิ่มวาระการประชุม, เสนอชื่อผู้ที่มีคุณสมบัติดํารงตําแหน่งกรรมการ สําหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจําปี ของบริษัทได้ล่วงหน้าก่อนการประชุม ซึ่งบริษัทได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นรับทราบโดยทั่วกันผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท ทั้งนี้คณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของการบรรจุหรือไม่บรรจุระเบียบวาระการประชุมตามที่ผู้ถือหุ้นเสนอ และสําหรับบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับการพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการ ฝ่ายจัดการจะนําเสนอคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นต่อไป
  • บริษัทได้กําหนดมาตรการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในเพื่อหาผลประโยชน์ของกรรมการและผู้บริหาร โดยแจ้งให้ทุกท่านทราบบทบาทภาระหน้าที่ที่ต้องรายงานการถือครองหลักทรัพย์ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะซึ่งถือหลักทรัพย์ของบริษัท และรับทราบการจัดทํารายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ทุกครั้งที่มีการซื้อ ขาย โอน หรือรับโอนหลักทรัพย์ ต่อคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามมาตรา 59 แห่ง พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายใน 3 วันทําการหลังจากวันที่ซื้อ ขาย โอน หรือรับ โอนหลักทรัพย์ นอกจากนี้กรรมการและผู้บริหารยังได้รับทราบหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กําหนดรวมถึงบทกําหนดโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และบริษัทได้กําหนดห้ามผู้บริหารที่ได้รับทราบข้อมูลภายในกระทําการใด ๆ ซึ่งเป็นการขัดต่อมาตรา 241 ของพระราชบัญญัติฯดังกล่าว รวมถึง กฎเกณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้อง
3. บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทได้ให้ความสําคัญต่อสิทธิของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายใน ได้แก่ พนักงาน และ ผู้บริหารของบริษัทและบริษัทย่อย หรือผู้มีส่วนได้เสียภายนอก ได้แก่ คู่แข่ง เจ้าหนี้ ภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัทตระหนักถึงแรงสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ซึ่งจะสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างกําไรให้กับบริษัท ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างความสําเร็จในระยะยาวของบริษัทได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ :

  • พนักงาน : บริษัทได้ปฏิบัติกับพนักงานอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และให้ผลตอบแทนที่เหมาะสม ในด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย บริษัทได้จัดให้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจําทุกปี และมีประกันอุบัติเหตุในกรณีเจ็บป่วย สําหรับในปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดอุบัติเหตุ มี 1 ครั้ง อัตราการเจ็บป่วยจากการทํางานหรืออัตราการหยุดงาน ไม่มี
  • คู่ค้า : บริษัทมีการซื้อสินค้าและบริการจากคู่ค้าเป็นไปตามเงื่อนไขทางการค้า รวมถึงการปฏิบัติตาม สัญญาต่อคู่ค้าและซื้อสินค้าที่มีลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • เจ้าหนี้ : บริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลง
  • ลูกค้า : บริษัทเอาใจใส่และรับผิดชอบต่อลูกค้า รักษาความลับของลูกค้า และมีหน่วยงานหรือบุคคล ที่ทําหน้าที่รับข้อร้องเรียนของลูกค้าเพื่อรีบดําเนินการให้แก่ลูกค้าโดยเร็วที่สุด
  • คู่แข่ง : บริษัทประพฤติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี รักษาบรรทัดฐานของข้อพึงปฏิบัติในการแข่งขัน หลีกเลี่ยงวิธีการไม่สุจริตเพื่อทําลายคู่แข่ง
  • ชุมชน : มีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมของชุมชน และสังคม

ทั้งนี้ บริษัทจะปฏิบัติตามข้อกําหนดของกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สิทธิของผู้มีส่วนได้เสีย เหล่านี้ได้รับการดูแลอย่างดี

4. การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายให้บริษัทมีการดําเนินงาน ด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูล อย่างเพียงพอแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมทั้งดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลาและน่าเชื่อถือ และทุก ฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน

ในการเปิดเผยข้อมูลสําคัญของบริษัท นอกจากเผยแพร่ตามเกณฑ์ที่กําหนดผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทย บริษัทจะทําการเผยแพร่ไว้ในเว็บไซต์ของบริษัท อาทิเช่น รายงานประจําปี, แบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี (56-1 One Report), ข้อมูลบริษัท, รายชื่อคณะกรรมการ, งบการเงิน, การลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เป็นต้น พร้อมทั้งได้แจ้ง E-mail Address, ที่อยู่ และ เบอร์โทรศัพท์ ที่ใช้ในการติดต่อกับบริษัทในรายงานประจําปีแล้ว เพื่อให้บริการข้อมูลและข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทกับผู้ลงทุน ผู้ถือหุ้น นักวิเคราะห์และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถติดต่อขอทราบข้อมูลบริษัทได้ที่ โทร. 0 2716 1750-7 แฟกซ์. 0 2716 1758-9 หรือที่ e-mail address : ir@rojana.com, acrojana@truemail.co.th หรือเข้าชมได้ที่ website : www.rojana.com

คณะกรรมการบริษัทได้จัดให้มีการรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินของบริษัท(รายละเอียดดูได้จาก หัวข้อ รายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงินของบริษัท) และรายงานของ ผู้สอบบัญชี (รายละเอียดดูได้จาก หัวข้อ งบการเงิน)

คณะกรรมการให้ความสําคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลสําคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัทอย่างถูกต้องครบถ้วนโปร่งใส ทั่วถึง และทันเวลา (ประวัติคณะกรรมการ เช่น ชื่อ-สกุล อายุ ตําแหน่ง ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทํางาน จํานวนหุ้นที่ถือ ปีที่ได้การดํารงตําแหน่งในบริษัทหรือบริษัทอื่น และการอบรมของกรรมการ โดยดูรายละเอียดได้จาก รายงานประจําปี หรือ แบบแสดงรายการข้อมูลประจําปี หัวข้อ รายละเอียดกรรมการผู้บริหาร) โดยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ดังกล่าว สําหรับผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ประกอบการตัดสินใจลง ผ่านช่องทางและสื่อสารเผยแพร่ข้อมูลต่าง ๆ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สํานักงานคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์รวมถึงเว็บไซต์ของบริษัท

ในปี 2565 บริษัทได้ทําการนัดหมาย (COMPANY VISIT) กับนักวิเคราะห์ นักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องมาพบกับ ผู้บริหาร เพื่อสอบถามข้อความความคืบหน้าการดําเนินกิจการ

พบปะกับนักวิเคราะห์หลักทรัพย์, สถาบันการเงินและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 2 ครั้ง
COMPANY VISIT / CONFERENCE CALL 60 ครั้ง

นโยบายการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร

บริษัทได้กําหนดนโยบายค่าตอบแทนกรรมการไว้อย่างชัดเจนและโปร่งใส โดยค่าตอบแทนอยู่ในระดับเดียวกับ อุตสาหกรรม และสูงเพียงพอที่จะดึงดูดและรักษากรรมการที่มีคุณสมบัติที่ต้องการ และได้ขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว กรรมการที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ และความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับหน้าที่ และความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายเพิ่มมากขึ้น

  • ค่าตอบแทนผู้บริหาร : ค่าตอบแทนผู้บริหารเป็นไปตามหลักการและนโยบายที่คณะกรรมการบริษัท กําหนด ซึ่งเชื่อมโยงกับผลการดําเนินงานของบริษัท และผลการดําเนินงานของผู้บริหารแต่ละท่าน
  • จํานวนค่าตอบแทนในปี 2565 และ ปี 2564 : บริษัท ได้เปิดเผยค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหารของ บริษัท ไว้ในเรื่องค่าตอบแทนกรรมการและผู้บริหาร

นโยบายว่าด้วยการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น

คณะกรรมการบริษัทมีนโยบายมุ่งมั่นในการดําเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส มีคุณธรรม ภายใต้หลักการกํากับดูแลกิจการที่ดี และรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทได้แสดงเจตนาอย่างมุ่งมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ โดยบริษัทมีนโยบายกําหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และข้อกําหนดในการดําเนินการอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการดําเนินธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัท บริษัทได้จัดทํานโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ ทั้งนี้ บริษัทกําหนดให้บริษัท บริษัทย่อย บริษัทร่วม บริษัทอื่นที่บริษัทมีอํานาจควบคุม (ถ้ามี) ตัวแทนทางธุรกิจ รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นอย่างเคร่งครัด (สามารถดูรายละเอียดได้ที่ เว็บไซด์ www.rojana.com)

การแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน

บริษัทได้จัดให้มีช่องทางให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มสามารถร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ได้โดยตรงด้วยตนเอง ด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางต่างๆ 3 ช่องทาง คือ

  • ทางไปรษณีย์ นําส่งที่คณะกรรมการบริษัท หรือคณะกรรมการตรวจสอบ หรือเลขานุการบริษัท ตามที่อยู่ข้างท้ายนี้

    บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จํากัด (มหาชน)
    เลขที่ 2034/115 ชั้น 26 อาคารอิตัลไทย ทาวเวอร์
    ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง
    กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : (662) 716-7150-7
    โทรสาร : (662) 716-1758-9
  • เว็บไซด์ของบริษัท www.rojana.com

บริษัทมีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน ดังนี้

  1. บริษัทจะเก็บข้อมูลและตัวตนของผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียน หรือ ผู้ถูกร้องเรียน ไว้เป็นความลับ และเปิดเผยเท่าที่จําเป็น โดยคํานึงถึงความปลอดภัยและความเสียหายของผู้แจ้งข้อมูลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
  2. ผู้แจ้งเบาะแส ผู้ร้องเรียน จะได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย หรือตามแนวทางที่บริษัท ได้กําหนดไว้ จะให้ความเป็นธรรมและคุ้มครองพนักงาน หรือบุคคลใดที่แจ้งเบาะแสหรือหลักฐานเรื่องการทุจริต ผู้ที่กระทําการทุจริต คอร์รัปชั่น ถือเป็นการกระทําผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทํางาน ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาโทษทางวินัยที่กําหนดไว้ รวมอาจถึงโทษตามกฎหมาย หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมายด้วย
  3. หากผู้แจ้งข้อมูลได้รับความเสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหาย
  4. บริษัทจะไม่กระทําการอันไม่เป็นธรรมต่อผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือ บริษัทจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตําแหน่งงาน ลักษณะงาน สถานที่ทํางาน สั่งพักงาน ข่มขู่ เลิกจ้าง